In: Archive|Music & Arts
20 May 2010นั่งจัดระเบียบไฟล์เก่าๆ ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ ก็ไปพบไฟล์ๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นต้นฉบับของบทสัมภาษณ์ ที่ผมเคยเขียนให้กับนิตยสาร Bridge เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ในหัวข้อเกี่ยวกับอิทธิพลของดนตรี อ่านดูแล้วก็เข้าท่าดีเหมือนกัน ก็เลยอยากเอามาแชร์ไว้ที่นี่เป็นข้อมูลให้กับคนอื่นๆ ได้อ่านกันต่อไปครับ
Q: ดนตรีมีอิทธิพลอย่างไรกับคนเรา?
A: เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น จะขอแยกคำที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกเป็นสองคำ คำแรก “ดนตรี” (music) ในการตอบคำถามของผมตรงนี้จะเจาะจงไปที่เสียงของดนตรีที่ไม่มีเนื้อร้องใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนอีกคำนึงคือคำว่า “เพลง” (song) ผมจะหมายถึงดนตรีที่มีเนื้อร้องควบคู่ไปด้วย
เสียงที่เราได้ยินส่วนใหญ่เป็นเสียงที่เราเลือกที่จะฟัง หูของเราทำงาน 24 ชั่วโมงไม่เคยหยุดพัก แต่เคยสังเกตมั้ยว่าเราเลือกที่จะฟังอะไรบ้างในแต่ละวัน? และยิ่งไปกว่านั้นเราจำสิ่งที่เราฟังได้มากแค่ไหน?
ส่วนใหญ่สิ่งที่เราจำได้จะเป็นสิ่งที่เราบอกตัวเองว่า “สิ่งที่ฉันได้ยินต่อไปนี้มีความสำคัญ จงตั้งใจฟังบันทึกสิ่งที่ไว้ในสมอง” เพราะฉะนั้นเราอาจจะพูดได้ว่า “สมอง” เป็นเหมือนกับตัวกรองสิ่งที่เราได้ยินในแต่ละวัน
ปัญหาก็คือว่า สมองของเรามีความจำกัด เราสามารถจำได้แต่เพียงสิ่งที่เราเข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าให้ผมไปนั่งฟังภาษารัสเซียสักสามวัน ผมก็ไม่มีทางจำอะไรได้เพราะสมองผมไม่สามารถเข้าใจภาษารัสเซีย
แต่เสียงดนตรีไม่เป็นเช่นนั้น อย่างที่เรามักจะพูดกันว่า “ดนตรีเป็นภาษาสากล” เพราะว่าคุณไม่จำเป็นต้องใช้สมองในการซึมซับเสียงดนตรี แต่เสียงดนตรีต่างๆ นั้นสามารถวิ่งตรงเข้าไปสู่ส่วนที่เป็นอารมณ์, ความรู้สึก หรือจิตใต้สำนึกของคนเราได้โดยที่ไม่ต้องผ่านสมองเลยก็ได้ รอบๆ ตัวเราทุกวันเต็มไปด้วยเสียงดนตรีที่ถูกออกแบบมากเพื่อให้ส่งผลกับอารมณ์และพฤติกรรมของเราโดยที่เราแทบจะไม่รู้ตัว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากๆ เช่นเวลาเราดูภาพยนตร์ มีกี่คนที่สนใจฟังเพลง soundtrack ที่อยู่ข้างในนั้น ความสนใจแทบทั้งหมดของคนดูนั้นอยู่กับแต่เนื้อเรื่อง บทสนทนา ภาพที่อยู่เบื้องหน้า แต่สิ่งที่ทำให้เรามีอารมณ์คล้อยตามมากที่สุดนั้นคือดนตรี! เสียงกลองทิมปานีที่ตีแผ่วๆ ช้าๆ ในฉากลึกลับทำให้เรารู้สึกว่าอะไรบางอย่างกำลังจะเกิดขึ้น เสียงไวโอลินในฉากที่พระเอกนางเอกนั่งมองหน้ากันเฉยๆ แต่กลับทำให้เรามีความรู้สึกซาบซึ้งจนนำตาไหล นี่เป็นแค่ตัวอย่างเพียงเล็กน้อยมาก ถ้าเราสังเกตดีๆ จะเห็นว่ารอบตัวของเราเต็มไปด้วยเสียงดนตรีเหล่านี้
ส่วน “เพลง” นั้นก็มีอิทธิพลมากเช่นกัน เพราะว่าเป็นการผสมผสานอย่างคล้องจองของเนื้อความ หรือเนื้อร้อง ซึ่งเราต้องเข้าใจด้วยสมอง เข้าไปอย่างกลมกลืนกับ “ดนตรี” ที่มีผลกับอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ ทำให้สิ่งที่เราได้ยินนั้น เข้าไปสู่ท้งสมองและอารมณ์ในเวลาเดียวกัน ดนตรีสามารถทำให้ข้อความเนื้อร้องนั้นมีความน่าสนใจและติดหูได้มากขึ้น ทำให้คนที่ฟังเพลงรู้สึกคล้อยตามไปกับเนื้อหาของเพลงได้อย่างง่ายดาย และยิ่งถ้าผู้ฟังรู้สึกเห็นด้วยหรือมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่บทเพลงๆ นั้นสื่อออกมาอยู่แล้ว เพลงก็จะยิ่งมีอิทธิพลกับผู้ฟังมากยิ่งขึ้น
Q: ดนตรีแต่ละประเภท มีผลกับชีวิตมากน้อยแค่ไหน เช่นเพลงโมสาร์ท ทำให้เป็นอัจฉริยะ หรือเพลง dead music ฟังแล้วอยากฆ่าตัวตาย?
A: มีการวิจัยออกมากันมากมายอยู่แล้วในเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวผมมองว่ามันมีผลแน่นอนแต่อาจจะเป็นทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เช่นฟังเพลง (ดนตรี) บางเพลงแล้วทำให้เป็นอัจฉริยะ ส่วนตัวผมคิดว่ามันคงจะไม่ใช่สูตรสำเร็จง่ายดายขนาดนั้น ไม่งั้นเด็กทุกคนที่เกิดมาตอนนี้คงเป็นอัจฉริยะหมดเพราะว่าพ่อแม่เปิดเพลงให้ลูกฟัง หรือเราอยากให้ใครทำอะไรซักอย่างก็แต่งเพลงขึ้นมาเพื่อสะกดจิตกันไปเลย
แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือสิ่งที่ผมได้ตอบไปในคำถามที่แล้ว “ดนตรีสามารถทำให้เราเกิดความรู้สึก ดนตรีส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของผู้ฟัง” ดนตรีบางประเภทอาจทำให้ผู้ฟังมีสมาธิ และส่งผลให้การเชื่อมโยงของสมองเป็นระเบียบหรือฉลาดขึ้นได้ ขณะเดียวกันดนตรีหรือเพลงบางประเภทอาจจะทำให้คุณมีความรู้สึกยินดีหรือเศร้าหดหู่ก็ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเพลงที่มีเนื้อร้องในลักษณะชี้นำให้คนคิดหรือทำอะไรสักอย่างที่ชัดเจนก็อาจจะมีพลังมากขึ้นถ้าคนที่ฟังเห็นด้วยกับเนื้อความในนั้น
ส่วนเรื่องที่ว่าจะมีผลมากน้อยแค่ไหนนั้น ส่วนตัวผมคิดว่าผู้ฟังเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่า ถ้าเราจะเอาดนตรีของโมสาร์ทไปเปิดให้กับคนที่ไม่ชอบเพลงคลาสสิคฟัง แทนที่จะทำให้ฉลาดขึ้น อาจจะกลายเป็นการสร้างความเครียดให้กับผู้ฟังไปแทนก็ได้ หรือเพลง dead music ถ้าให้ผมฟังผมก็คงจะไม่มีวันไปฆ่าตัวตาย เพราะผมไม่เคยเห็นด้วยกับเนื้อหาของเพลงแบบนั้น
สรุปแล้วผมคิดว่าดนตรีมีอิทธิพลต่อผู้ฟังในทางใดทางหนึ่งแน่นอนแต่ก็เป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น คงไม่ใช่ทั้งหมด ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ดนตรีมีผลกับชีวิตมากน้อยนั้นยังมีอีกมากมายเช่น พื้นฐานหรือสภาวะทางอารมณ์, เพื่อน, ครอบครัว, ประสบการณ์ในชีวิต, หลักเกณฑ์ในการดำเนินชีวิต ฯลฯ
Q: ฉะนั้นเราจำเป็นต้องเลือกฟังดนตรีไหม แบบไหน?
A: ผมเป็นคนที่ฟังดนตรีได้ทุกแนว แต่ผมเลือกที่จะชอบและหลงไหลในดนตรีแค่บางแนวเท่านั้น ดนตรีก็เหมือนกับเพื่อน คุณมีเพื่อนหลายคนในชีวิตของคุณ แต่คุณอาจจะมีเพื่อนสนิทอยู่แค่ไม่กี่คนเท่านั้น เพื่อนคุณบางคนอาจจะมีบางอย่างที่ไม่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องปฎิเสธหรือเลิกคบกับเค้า เพราะว่าคุณก็ยังต้องเจอกับเพื่อนหรือคนที่คุณไม่ชอบอยู่ในบางเวลา และทุกคนก็ล้วนยังมีส่วนที่ดีที่แตกต่างกัน
เช่นเดียวกันกับดนตรี สื่อปัจจุบันนี้มีมากมายหลายรูปแบบเหลือเกิน จนเราแทบจะไม่สามารถหลึกหนีไปจากดนตรีหลากหลายประเภททั้งที่ดีและไม่ดีที่เข้าคิวกันมาให้เราฟังแต่ละวัน การที่เราจะเลือกฟังดนตรีเฉพาะแนวในแนวหนึ่งอาจจะเป็นการปิดตัวเองเกินไป รวมถึงอาจจะทำให้เราต้องพลาดสิ่งดีๆ ที่ซ่อนอยู่บางอย่างไปโดยที่เราไม่รู้ตัวได้
ผมอยากจะพูดกับผู้อ่านทุกคนด้วยซ้ำว่า “ขอให้คุณเปิดใจให้กว้างๆ กับดนตรีทุกๆ รูปแบบ แต่ขอให้คุณเลือกดีๆ กับดนตรีที่จะมาเป็นเพื่อนสนิทในชีวิตของคุณ ใช้เวลาทำความรู้จักกับเค้า ทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ต้องระวัง อย่าเลือกหลงไหลดนตรีอะไรเพียงเพราะว่าเป็นแฟชั่นหรือว่าทำตามคนอื่นๆ”
me[h]t·a·mor·pho·sis (mĕt'ə-môr'fə-sĭs) = A 'supernatural' transformation | A marked change in appearance, character, condition, or function. (2 Corinthians 5:17-18)